ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี (ทอบ.)
ประวัติ
สนามบินอุบลราชธานีได้มีการบินครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2464 ซึ่งขณะนั้นได้เกิดไข้ทรพิษและอหิวาตกโรคโรคระบาดในท้องที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทางการได้ส่งนายแพทย์และเวชภัณฑ์ โดยทางเครื่องบินไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบรรเทาทุกข์ของราษฏร ซึ่งถือว่าได้เกิดสนามบินอุบลราชธานีแล้วตั้งแต่เวลานั้น
* พ.ศ. 2495 กรมการบินพาณิชย์ (สำนักงานการบินพลเรือนการบินขนส่ง) กระทรวงคมนาคมได้เริ่มบริหารกิจการท่าอากาศยานอุบลราชธานีและได้ปรับปรุงพัฒนาสนามบินเพื่อบริหารการบิน
* พ.ศ. 2504 - 2505 สหรัฐอเมริกาได้สร้างและปรับปรุงทางวิ่ง ทางขับและลานจอด เพื่อผลทางการทหารในสมัยนั้นซึ่งมีทางวิ่งเป็นคอนกรีต 7,000/25 ฟุต
* พ.ศ. 2505 เปิดใช้งานสนามบิน
* พ.ศ. 2508 กองทัพอากาศได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ
* พ.ศ. 2533 กรมการบินพาณิชย์ได้จัดซื้อที่ดินเพิ่มสร้างอาคารท่าอากาศยาน หอบังคับการบิน และลานจอดเครื่องบิน ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานในปัจจุบัน
การพัฒนาท่าอากาศยาน
คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2530 ได้อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 4 ปี เพื่อแยกพื้นที่ที่ใช้ในกิจการบินพาณิชย์ออกจากเขตความคุมของทหารต่อมาคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจประชุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2532 ได้พิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 ด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีข้อสังเกตว่าโดยที่ปัจจุบันเส้นทางบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ คือ แอมเบอร์ 1 บินผ่านจังหวัดอุบลราชธานีอยู่แล้วซึ่งอาจมีความเป็นได้ที่จะพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์สากล จึงได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการ
กรมการพาณิชย์ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจดังกล่าว จึงได้ศึกษาและพิจารณาแล้วเห็นว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ประเภทประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และประเภทธรรมชาติ ในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งอาจเป็นประตูที่จะเปิดไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในประเทศอินโดจีน เพราะมีระยะทางไม่ไกลใช้เครื่องบินใบพัดหรือไอพ่นขนาดเล็กเชื่อมระหว่างอุบลราชธานีและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศอินโดจีนได้โดยสะดวก
กรณีนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงมีการขยายตัวและกระจายรายำด้ไปสู่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง และเนื่องจากเครื่องบินพาณิชย์ที่จะทำการขนนักท่องเที่ยวจากต่งประเทส เข้า-ออก ท่าอากาศยานอุบลราชธานี คาดว่าจะเป็นเครื่องบินขนาด 250-300 ที่นั่ง (แอร์บัส) มีพิสัยบินปานกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีให้รับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นและเครื่องบินขนาด 250-300 ที่นั่งด้วย จึงนำเสนอผลการศึกษาไปตามขั้นตอน ต่อมาคณะรัฐมนตรีคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2532 ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์สากล โดยมีโครงการก่อสร้าง ดังนี้
โครงการก่อสร้างในอดีต
พ.ศ. 2534 – 3535 ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ งบประมาณ 256.05 ล้านบาท
ก่อสร้างทางวิ่ง ทางขับและลานจอดรถยนต์ งบประมาณ 235.63 ล้านบาท
พ.ศ. 2537 ก่อสร้างปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสารเพิ่มเติม พร้อมระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า งบประมาณ 78.68 ล้านบาท
พ.ศ. 2560 งานซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ งบประมาณ 149.8 ล้านบาท
พ.ศ. 2561 โครงการปรับปรุงโรงเก็บเครื่องยนต์เป็นอาคารคลังสินค้า งบประมาณ 9.95 ล้านบาท
โครงการปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร งบประมาณ 148.88 ล้านบาท
โครงการตกลงซื้อพร้อมติดตั้งระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินและเครือข่ายดาวเทียม งบประมาณ 43.43 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างรั้วปิดเขตการบินและเพิ่มลวดหนามของรั้วรอบบริเวณ งบประมาณ 18.2 ล้านบาท
งานปรับปรุงระบบไฟทางวิ่ง ไฟทางขับ Threshold/End light ไฟ Taxi ไฟ PAPI งบประมาณ 87.59 ล้านบาท
พ.ศ. 2563 โครงการซื้อพร้อมติดตั้งระบบไฟส่องสว่างแนวรั้วพื้นที่เขตการบิน งบประมาณ 6.15 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างในอนาคต
(ยอดวงเงินรวมในการพัฒนาโครงการ ปี 2564 - 2567 2,486 ล้านบาท)
พ.ศ. 2564 – 2565 งบประมาณ 131 ล้านบาท ก่อสร้างศูนย์ขนส่งผู้โดยสารและปรับปรุงลานจอดรถยนต์
พ.ศ. 2565 – 2567 งบประมาณ 2,010 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่
พ.ศ. 2565 – 2567 งบประมาณ 36 ล้านบาท จ้างควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่
พ.ศ. 2565 – 2567 งบประมาณ 300 ล้านบาท ก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน
พ.ศ. 2565 – 2567 งบประมาณ 9 ล้านบาท จ้างควบคุมงานก่อสร้างขยายลานจอดเครื่องบิน